"SPCG" ปลื้มทำกำไรเพิ่มติดต่อกันมา 5 ปีซ้อน มั่นใจปีนี้โตต่อเนื่อง ปั้นรายได้จากโซลาร์ฟาร์มอีอีซี 500 เมกะวัตต์หนุน เริ่มบุ๊ครายได้ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป

     ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG เปิดเผยถึงผลดำเนินงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์แนวโน้มผลดำเนินงานในปี 2564 นี้ว่า ยังคงเติบโตต่อไป เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 5,000 ล้านบาท

     สำหรับปัจจัยที่คาดว่า จะสนับสนุนให้บริษัทฯ เติบโตตามเป้าหมาย มาจากการลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มเพิ่มอีก 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ (EEC) ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่าง SPCG กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ซึ่งเริ่มทยอยกำลังผลิตเฟสแรกที่ 300 เมกะวัตต์ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะรับรู้รายได้ทันที บริษัทจึงตั้งเป้ากำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568 ประกอบกับปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตรวมโครงการโซลาร์ฟาร์ม 36 โครงการอยู่ที่ 385 ล้านหน่วย รวมทั้งในปีนี้บริษัทยังบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพและขยายโครงการลงทุนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

     สำหรับผลดำเนินงานของบริษัท นับตั้งแต่ปี 2559 มีกำไรสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 มีรายได้รวม 5,544.30 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,617.47 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 6,122 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,822.11 ล้านบาท, ปี 2561 มีรายได้รวม 6,046 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,923.58 ล้านบาท, ปี 2562 มีรายได้รวม 5,322 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,011.26 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้รวม 5,047 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,062.37 ล้านบาท

     ด้าน พิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน กล่าวว่า รายได้ปีนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์มใน EEC เฟสแรก ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนโครงการดังกล่าวมากกว่า 10% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 200 เมกะวัตต์ คาดจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในปี 2565 ทั้งนี้หากโครงการโซลาร์ฟาร์มใน EEC ดำเนินการครบ 500 เมกะวัตต์ จะสร้างรายได้ประมาณ 2.5 พันล้านบาท สามารถเข้ามาทดแทนโซลาร์ฟาร์มบางแห่ง ที่ทยอยหมด Adder ตั้งแต่ปี 2564-2567 

     สำหรับ บมจ.เอสพีซีจี มีรายได้มาจาก 2 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm 36 โครงการ) รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการที่ญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะโครงการ Tottori Yonago Mega Solar Power Plant กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ได้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2018 และบริษัทได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลไปแล้ว 3 งวด หรือ 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี และมั่นใจว่าปีนี้ยังคงได้รับผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องต่อไป

     ด้านโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ SPCG ถือหุ้น 17.92% เป็นโครงการขนาดใหญ่และเป็นโครงการระหว่างประเทศ ยังเดินหน้างานก่อสร้างตามปกติ แม้จะล่าช้าไปบ้างในช่วงวิกฤติโควิด แต่ปัจจุบันทางญี่ปุ่นได้เร่งเดินหน้างานก่อสร้าง และน่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ COD ได้ราวไตรมาส 3 ปี 2023 ตามแผนงานเดิม ส่วนเงินทุนงวดที่ 3 ที่จากตามกำหนดการเดิมจะต้องใส่เข้าไปราวสิ้นปีที่แล้ว บริษัทยังยืนยันที่จะใส่เงินทุนงวด 3 ตามสัญญาความก้าวหน้าโครงการ

     2.ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ที่บริษัทตั้งเป้าเติบโตรายได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR บริษัทในเครือ SPCG ที่ขณะนี้ได้ติดตั้งให้ภาคครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย ทั้งปัจจุบันกำลังเจรจากับโรงงานอีกหลายแห่งที่สนใจติดตั้ง 

     "ก่อนหน้านี้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ออกบทวิเคราะห์ถึงหุ้น SPCG ว่า เป็นหุ้นปันผลเด่นของกลุ่มพลังงาน เนื่องจากบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลมาได้อย่างต่อเนื่อง หลายปีติดต่อกัน และให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนในระดับสูงถึง 6% แบบนี้ติดต่อกันมา 3 ปีต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลดำเนินงานที่เติบโตมาตลอด เพราะจากการจ่ายเงินปันผลงวดที่ 2 ของครึ่งปีหลัง 63 อีก 0.65 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) 3.2% และหารวมงวดครึ่งแรกของปี 63 ที่ 0.55 บาท เท่ากับว่า SPCG ให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน งวดปี 2563 น่าพอใจ 6%"