"การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค" (PEA) เผยผลสำเร็จ 6 ขั้น หลังให้บริการพลังงานไฟฟ้ามั่นคง-ปลอดภัย เต็มสูบ ตลอด 60 ปี ครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคม ดังนี้ 1) ประชาชนมีท้องถนนที่สวยงามสบายตา 2) ปัญหาร้องเรียนเรื่องไฟฟ้าตก เป็น “ศูนย์” 3) ประชาชนมีพลังงานสะอาดใช้บนเกาะ 4) 99% ของสายสื่อสารได้รับการจัดระเบียบ 5) 5,500 ช่างไฟฟ้าประจำท้องถิ่น และ 6) 11 ชุมชน ใช้พลังงานสะอาดผลิตสินค้า พร้อมเผยยุทธศาสตร์ ปี 64 “PEA Digital Utility” เล็งใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานทดแทน เพิ่มประสิทธิภาพระบบงานด้านไฟฟ้าและบริการ รองรับยุคเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไฟฟ้า หนุนลูกค้าได้รับบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเกิดความพึงพอใจสูงสุด

     สมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA มุ่งให้บริการพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคง ปลอดภัยและมุ่งมั่นให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ ตลอด 60 ปี โดยที่ผ่านมา PEA ได้เดินหน้าให้บริการพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง อันสะท้อนเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ใน 6 ขั้นสำคัญ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ประชาชนมีท้องถนนที่สวยงามสบายตา PEA เดินหน้าปรับปรุงระบบไฟฟ้าเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน ระยะทางจังหวัดละ 1-2 กิโลเมตร เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสวยงามสบายตาในพื้นที่ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ “1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ” การปรับปรุงระบบไฟฟ้า เคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี 2563 – 2567 ด้วยงบประมาณรวม 4.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ PEA เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการก่อสร้างระบบไฟฟ้าเคเบิลใต้ดินทั้งหมด

  • ปัญหาร้องเรียนเรื่องไฟฟ้าตก เป็น “ศูนย์” จากการปรับปรุงระบบจำหน่ายแรงต่ำเพื่อแก้ไขปัญหาแรงดันไฟฟ้าตก ผ่านโครงการปรับปรุงระบบจำหน่าย พบว่า ในปี 2563 ปัญหาร้องเรียนเรื่องแรงดันไฟฟ้าตกกลายเป็นศูนย์ โดยที่ผ่านมา PEA ได้ปรับหลักเกณฑ์ระเบียบงานขยายเขตให้ผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมปรับลดค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่และผู้ใช้ไฟฟ้าอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU : Time of Use Tariff)

  • ประชาชนมีพลังงานสะอาดใช้บนเกาะ PEA พัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะ อีกทั้งสามารถบริหารจัดการ ตั้งแต่การผลิต กักเก็บ และจำหน่ายไฟได้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าหลักบนฝั่ง โดยที่ผ่านมา ได้นำร่องโครงการดังกล่าว บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แบบออฟกริด (Off – Grid)

  • 99% ของสายสื่อสารได้รับการจัดระเบียบ PEA ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย สบายใจแก่ผู้คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้อง ในย่านธุรกิจการค้า เทศบาล สถานที่สำคัญ สถานที่ท่องเที่ยว จึงได้ดำเนินโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร เส้นทางวิกฤตทั่วประเทศ โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2563 ได้ดำเนินการนำสายที่ไม่ได้ใช้งาน (สายตาย) ออกทั้งหมดและจัดระเบียบสายเข้าคอนในพื้นที่ที่กำหนด ตามเส้นทางวิกฤต 3,891 เส้นทาง โดยคิดเป็น 99% ของการดำเนินงานทั้งหมด

  • 5,500 ช่างไฟฟ้าประจำท้องถิ่น PEA มุ่งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพช่างไฟฟ้าในท้องถิ่นให้ได้รับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า การจัดอบรม/ฝึกทักษะ โดยมีพนักงาน PEA เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ลดข้อจำกัดจากระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ทั้งนี้ จากการดำเนินการปี 2560-2565 มีช่างไฟฟ้าผู้ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็นช่างไฟฟ้าประจำตำบลกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วจำนวนกว่า 5,500 คน โดยประชาชนสามารถใช้บริการช่างไฟฟ้า ผ่านแพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการช่างไฟฟ้า (PEA Care and Service Application)

  • 11 ชุมชน ใช้พลังงานสะอาดผลิตสินค้า เพื่อให้ได้คุณภาพของสินค้าที่มีมาตรฐาน จะทำให้เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับชุมชน ตลอดจนประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน PEA จึงดำเนินโครงการ “PEA ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชน” การใช้พลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง รวมถึงการบริหารจัดการใช้ระบบพลังงานทดแทนที่เหมาะสม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยปัจจุบันมีชุมชนได้รับการสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 11 แห่ง

     "PEA มุ่งยกระดับมาตรฐานการให้บริการภายใต้แผนพัฒนาไฟฟ้า 20 ปี ด้านสมาร์ท กริด (Smart Grid) ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการนำร่อง Smart Grid ด้วยการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ (Smart Meter) จำนวน 1.16 แสนเครื่อง ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ติดตั้ง Smart Meter จำนวน 8 แสนเครื่อง ในพื้นที่ 4 เทศบาลใหญ่ และพื้นที่อีอีซี (EEC) และผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ทั้งหมด และ แผนการติดตั้งสถานีชาร์จของยานยนต์ไฟฟ้า (Charging Station) โดยในปี 2564 เตรียมขยายจุดให้บริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอีก 64 สถานี ตามเส้นทางรอง และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจุบัน PEA มีพื้นที่จ่ายไฟฟ้าทั้งหมด 74 จังหวัด แบ่งออกเป็น 4 ภาค 12 เขตพื้นที่ โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 5.9 แสนล้านบาท"

     ทั้งนี้ ในปี 2564 PEA เตรียมเดินหน้ายุทธศาสตร์ “PEA Digital Utility” ส่งเสริมการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานทดแทนมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านระบบไฟฟ้า และด้านบริการ ให้รวดเร็ว ถูกต้อง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจทั้งด้านคุณภาพและบริการได้ดียิ่งขึ้น รองรับยุคเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไฟฟ้า อีกทั้งพร้อมพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและเป็นองค์กรชั้นนำที่ทันสมัยในระดับภูมิภาค ตอกย้ำ “Brightness for Life Quality สว่างทั่วทิศ สร้างคุณภาพชีวิตทั่วไทย” อย่างแท้จริง